เปิดอภิโปรเจ็กต์ “World Digital Library” เชื่อมแหล่งความรู้ทั่วโลกเป็นหนึ่ง
ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมง “World Digital Library” ก็กลายเป็นประเด็นฮอต ให้คนในแวดวงเทคโนโลยี และผู้ที่สนใจหยิบมาสนทนากันได้อย่างแพร่หลาย โครงการนี้มีจุดเริ่มมาจาก “ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน” ต้องการขยายขอบข่ายโลกความรู้ของตนให้กว้างขวางขึ้น โดยเชื่อมระบบเข้ากับห้องสมุดดิจิตอลทั่วโลก และเปิดให้ห้องสมุดดิจิตอลอื่น เชื่อมเข้าถึงระบบของรัฐสภาได้เช่นเดียวกัน
โครงการกลายเป็นโปรเจ็กต์ยักษ์ เมื่อมีภาครัฐและเอกชนประกาศตัวสนับสนุนอย่างเนืองแน่น หนึ่งในนั้น คือ กูเกิล ที่ลงขันเจ้าเดียว 3 ล้านดอลลาร์
ในระยะแรก “World Digital Library” จะพัฒนาขึ้นจากการเชื่อมระบบห้องสมุดดิจิตอลของรัฐสภาอเมริกัน เข้ากับห้องสมุดของบราซิล ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และรัสเซีย ซึ่งจริงๆ แล้ว “World Digital Library” เป็นการต่อยอดไอเดียเดิมของห้องสมุดรัฐสภาในรูปของ American Memory Project ซึ่งได้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2537 โดยเน้นรวบรวมงานที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของอเมริกา มาจัดทำเป็นคอนเทนต์ดิจิตอล ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ทั้งในรูปข้อมูลงานเขียน ภาพ และเสียง การเป็นพันธมิตรกับ 5 ชาตินำร่อง ช่วยให้ “World Digital Library” เป็นแหล่งรวมคอนเทนต์อันใหญ่โตมหาศาล
แต่สำหรับเฟสใหม่ในอนาคต เจมส์ บิลลิงตัน ผู้ดูแลห้องสมุดรัฐสภา ต้องการให้ “World Digital Library” เป็นมากกว่าห้องสมุดดิจิตอลที่เชื่อมแค่อเมริกา และยุโรป รวมทั้งให้ “World Digital Library” นี้เป็นแหล่งรวม ข้อมูลสำคัญหายาก และเป็นห้องสมุดโลกที่รวบรวมบันทึกวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่ในประเทศต่างๆ มาเก็บไว้
เช่น ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน กำลังเจรจากับห้องสมุดแห่งชาติของอียิปต์ เพื่อขอนำผลงานทางวิทยาศาสตร์ ของชาวอิสลามในสมัยศตวรรษที่ 10 ถึงศตวรรษที่ 16 มาใส่ไว้ใน “World Digital Library” ด้วย
จุดที่น่าสนใจของโครงการนี้ ยังอยู่ที่บทบาทของกูเกิล ที่จะเข้าช่วยในการพัฒนามาตรฐานดัชนีให้กับข้อมูล ดิจิตอลต่างๆ ที่จะนำมารวบรวมไว้ใน “World Digital Library” รวมทั้งรับหน้าที่เป็นผู้จัดหาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้กับ ห้องสมุดรัฐสภาอเมริกัน
นักวิเคราะห์มองว่า โปรเจ็กต์ของห้องสมุดดิจิตอลโลก ของรัฐสภาอเมริกัน จะช่วยแรงขับเคลื่อนให้กับโปรเจ็กต์อื่นๆ ที่คล้ายกันของคู่แข่งกูเกิล รวมถึงห้องสมุดใหญ่สุดของโลกบางราย ที่ต้องการสร้างแหล่งรวบบันทึกดิจิตอล ในด้านต่างๆ อาทิ ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายผ่านระบบออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยนอกจากจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นไฟล์ข้อมูลแล้ว ยังสามารถเข้าถึงข้อมูลเสียง ภาพ และไมโครฟิล์ม
ในรายของกูเกิล มีโปรเจ็กต์ที่ต้องการทำอยู่แล้ว โดยร่วมกับห้องสมุดใหญ่ 5 แห่ง เพื่อแปรสภาพข้อมูลตัวอักษร ในหนังสือต่างๆ ให้เป็นดิจิตอลไฟล์ หลังจากที่ Google Print Project ของค่ายเผชิญกระแสต้านอย่างรุนแรง และนำไปสู่คดีฟ้องร้องนักเขียนรุ่นใหญ่ และสำนักพิมพ์ 5 ค่ายของสหรัฐ เพื่อขัดขวางแผนของกูเกิล ที่ต้องการ เอางานเหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของคอลเลคชั่นหนังสือออนไลน์ที่ร่วมกับพันธมิตรห้องสมุดบางแห่ง
ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อกลุ่มว่า Open Content Alliance กำลังผลักดันโปรเจ็กต์แหล่งรวมหนังสือ ภาพยนตร์ และสื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ ระบบออนไลน์ โปรเจ็กต์มีบิ๊กอินเทอร์เน็ต “ยาฮู” ร่วมมือกับฮิวเลตต์ - แพ็คการ์ด และอาโดเบ เป็นสมาชิกก่อตั้งของกลุ่ม โดยได้ความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยดัง อย่าง มหาวิทยาลัย แคลิฟอร์เนีย มหาวิทยาลัยโตรอนโต บริติช เนชั่นแนล อาร์ชีฟส์ ตลอดจนโอเรลลี มีเดีย และยูโรเปียน อาร์ชีฟ เป็นผู้สนับสนุนด้านข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆ
อีกกลุ่มหนึ่งที่ร่วมกระแสด้วย คือ โปรเจ็กต์ร่วมระหว่าง MSN ของค่ายไมโครซอฟท์ และห้องสมุดแห่งชาติของอังกฤษ ที่จับมือนำผลงานต่างๆ ที่รวบรวมไว้ในห้องสมุดแห่งนี้มาแปลงให้อยู่รูปของข้อมูลดิจิตอล แล้วให้บริการผ่านระบบ ออนไลน์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของบริการ MSN Book Search
|