ก้าวต่อไปของระบบโทรศัพท์
ทุกวันนี้เมื่อเราต้องติดต่อสื่อสารกันโดยใช้โทรศัพท์ในการติดต่อธุรกิจ เรามักจะคิดอยู่ในใจเสมอว่าเราจะเลือกใช้ระบบโทรศัพท์ระบบไหนติดต่อกันดีระหว่างระบบโทรศัพท์แบบพื้นฐานธรรมดาผ่านตู้สาขาในสำนักงาน กับใช้ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งแต่ละระบบก็มีข้อได้เปรียบที่แตกต่างกันในแง่ของค่าใช้จ่ายและความคล่องตัวของการใช้งาน ซึ่งเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรายังคงต้องใช้งานทั้งสองระบบควบคู่กันไป ระบบตู้สาขาที่ใช้งานกับโทรศัพท์พื้นฐานในสำนักงานได้ถูกพัฒนาต่อไปโดยใช้เทคโนโลยีของ Voice Over IP จากเดิมที่เรามีหัวโทรศัพท์แบบเดิมต่อเข้ากับคู่สายโทรศัพท์ไปยังตู้สาขา ก็กลายเป็นหัวโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่เรียกว่า IP Phone ต่อเข้ากับระบบ LAN โดยแปลงสัญญาณเสียงที่เราพูดคุย เป็นข้อมูลดิจิตอลส่งผ่านระบบ LAN เหมือนข้อมูลอื่นๆ ทั่วไปที่รับส่งกันระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์บน LAN มีเซิร์พเวอร์ทำหน้าที่ควบคุมการโทร (Call Manager) โดยอาศัย IP Protocol เป็นตัวนำพาสัญญาณเสียงไปยังปลายทาง ระบบไอพีโฟนนี้เพิ่มความคล่องตัวในการใช้งานมากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายและสามารถใช้ติดต่อสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลาตราบเท่าที่มีระบบ IP Networkไปถึง ซึ่งหมายรวมถึงระบบอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้การพัฒนาระบบ LAN ไร้สาย (Wireless LAN) ยิ่งทำให้การใช้งานไอพีโฟนมีความคล่องตัวขึ้นไปอีก ส่วนระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็กำลังจะถูกพัฒนาไปเป็นรุ่นที่ 3 หรือ 3G (Third Generation) ซึ่งจะมีความเร็วของการส่งสัญญาณสูงขึ้น มีแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ มากขึ้น และที่สำคัญทำงานบนพื้นฐานของ IP Protocol ด้วยเช่นกัน เนื่องจากทั้งสองระบบต่างทำงานบน IP Network ทำให้ในอนาคตอันใกล้เครื่องโทรศัพท์ที่เราใช้จะทำงานแบบไร้สายได้กับทั้งระบบ ไอพีโฟนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยหลักการคร่าวๆ ก็คือ เมื่อเราอยู่นอกสำนักงานมันก็จะทำงานเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ปกติธรรมดา เมื่อเราเข้ามาในเขตบริเวณสำนักงานที่ได้รับสัญญาณ Wireless LAN จะสวิตช์ตัวเองมาทำงานเป็นหัวโทรศัพท์แบบไอพีโฟนผ่านสัญญาณ LANไร้สาย เป็น Voice over IP ผ่านระบบ LAN ของสำนักงานออกไป ที่สำคัญการติดต่อสื่อสารที่กำลังสนทนาก็ไม่ขาดตอนด้วยโดยมีเทคโนโลยี IP Roaming เข้ามาช่วยจัดการให้มีการถ่ายโอนอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าผู้ใช้สามารถใช้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวทำงานได้กับทั้งสองระบบ ได้รับประโยชน์จากข้อดีของทั้งสองระบบโดยไม่ต้องพกพาโทรศัพท์หลายๆ เครื่องติดตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดค่าใช้จ่ายของค่าโทรศัพท์ให้กับองค์กร นอกจากนี้ยังเพิ่มความสามารถในการ โอนสายข้ามไปมาระหว่างทั้งสองระบบ ทำให้ผู้ต้องการที่จะติอต่อเราสามารถโทรหาเราได้ทั้งสองระบบเลยโดยที่เขานั้นไม่รู้เลยว่าเรากำลังใช้งานโทรศัพท์อยู่ในโหมดใด เพิ่มความคล่องตัวและความสามารถในการติดต่อสื่อสารได้ดียิ่งขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถขยายขอบเขตของการทำงานในโหมดของไอพีโฟนให้ทำงานนอก บริเวณสำนักงานได้อีกด้วยโดยอาศัยสัญญาณ Wireless LAN จากสถานที่ต่าง ๆ ที่มีบริการ Wi-Fi และใช้เทคโนโลยี VPN (Virtual Private Network) เชื่อมต่อกลับเข้าไปในระบบเน็ตเวิร์คของตัวเอง สำหรับเทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ในขั้นทดลองกับผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ คิดว่าเราคงจะได้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เป็นไอพีโฟนด้วยในอนาคตอันใกล้นี้อย่างแน่นอน